สายน้ำ พระเจดีย์ทราย และรอยทางโยเดีย
- Napat Uthaichai
- Apr 14
- 2 min read
Updated: Apr 17

เมษายนและพฤษภาคม 2559
จากโรงแรมใจกลางเมืองมัณฑะเลย์ผมซ้อนมอเตอร์ไซค์ฝ่าด่านผู้คนที่กำลังเล่นสาดน้ำในช่วงเทศกาลทิงยัน (Ting Jan) หรือสงกรานต์กันอย่างสนุก มุ่งหน้าไปทางทิศใต้ราว 4 กิโลเมตร บนถนนสาย 84 และ 85 เลียบคูน้ำขนาดเล็กที่คู่ขนานยาวไปตามแนวทางหลวงทั้งสอง

สายน้ำแห่งนี้มีชื่ออย่างเรียบหรูว่า “ชเวตะชาว” (Shwe Ta Chaung : Shwe - ชเว หมายถึง ทองคำ Chaung - ชาว หมายถึง คลอง) รวมแล้วหมายถึง คลองทองคำ ที่ปัจจุบันเน่าเสียและเต็มไปด้วยขยะมูลฝอย เพราะรับระบายน้ำเสียจากชุมชน

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพม่าระบุว่า ปี 2310 พระเจ้าอังวะเซงพยูเชง (มังระ) กษัตริย์พม่าพิชิตอยุธยาได้ ทรงให้เชลยส่วนหนึ่งที่กวาดต้อนมาจากอยุธยา เชียงใหม่ สุโขทัย และพิษณุโลก โดยเฉพาะที่เป็นผู้ชายสูงศักดิ์ไปอาศัยอยู่ในบริเวณที่ห่างจากกรุงอังวะ ซึ่งเรียกว่า ระแหงมงติสุ (Rahine-Monte Su) และเมงตาสุ (Mintha Su) ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตเมืองมัณฑะเลย์ เมืองเอกของภูมิภาคมัณฑะเลย์

ดร.ทิน มาว จี อดีตนายแพทย์ลูกหลานเชลยอยุธยากลุ่มโขนละครจากราชสำนักอยุธยาที่บรรพชนถูกกวาดต้อนมาครั้งกรุงแตก และเป็นนักวิชาการอิสระซึ่งศึกษาเกี่ยวกับร่องรอยชาวโยเดียในมัณฑะเลย์และเมืองข้างเคียง ระบุว่า
ปี 2327 พระเจ้าปดุงกษัตริย์ผู้สถาปนากรุงอมรปุระที่ย้ายราชธานีมาจากเมืองอังวะ ทรงรับสั่งให้เสนาบดีขุดคลองเชื่อมระหว่างเมืองมัดดายาทางตอนเหนือกับทะเลสาบเต็ดเตทางใต้ ซึ่งไหลผ่านชุมชนระแหงมงติสุและเมงตาสุอันเป็นถิ่นฐานของเชลยโยเดีย

ผู้คนในอดีตเรียกคลองนี้ว่า “เนโกโซ” (Ne Ko Tho) ซึ่งไม่ใช่ภาษาพม่า ในขณะที่ชื่อชเวตะชาวนั้นไม่ปรากฏว่าเรียกขานกันตั้งแต่เมื่อใด และมันเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญของเชลยโยเดียที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กับศูนย์กลางของราชอาณาจักรพม่า
ตลอดจนเป็นย่านที่วิถีชีวิตของเหล่าเชลยสยามได้ลงหลักปักฐานสร้างตัวตนผ่านการแสดงออกทางวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์มาจนถึงปัจจุบัน

พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าทรงอนุญาตให้เชลยโยเดียในย่านคลองชเวตะชาวสามารถจัดงานประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้เป็นประจำทุกปี โดยมีเจ้าฟ้าอุทุมพรเถระ อดีตกษัตริย์อยุธยาที่ถูกอัญเชิญมาพร้อมกับราษฎรชาวสยามหลังการเสียกรุง เป็นประธานในการจัดงาน ดังส่วนหนึ่งของข้อความในจารึกที่ชุมชนมงติสุซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย ดร.ทิน มาว จี ดังนี้
“...ลูกหลานเชลยอยุธยาได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าปดุงให้สร้างพระเจดีย์ทรายบริเวณคลองชเวตะชาว ตั้งแต่ปี 2327 โดยมีกษัตริย์ในเพศสมณะ (เจ้าฟ้าดอกหรือเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ) ซึ่งจำพรรษา ณ วัดพาวเลไต (Paung Le Tike) เป็นประธานในการสร้างและบูชาพระเจดีย์ทรายมหาวาลุกะทุกปีไม่ได้ขาด จนกระทั่งมรณภาพในปี 2339...”
“...ในรัชกาลพระเจ้ามินดง ผู้สถาปนากรุงมัณฑะเลย์และพระเจ้าธีบอ กษัตริย์พระองค์ต่อมายังคงให้เชลยสยามสามารถจัดประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายได้ ต่อมา โพ ทุน จอ (Pho Tun Kyaw) ชายอาวุโสผู้เป็นที่เคารพ และมีอายุถึง 100 ปี เป็นประธานในการจัดงานจนถึงปี 2513 พระเจดีย์ทรายมีความสูงจากฐานถึงยอด 25 ฟุต และจะสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน…”

ทั้งนี้ ตามจารีตโบราณประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายในมัณฑะเลย์มีกำหนดเริ่มต้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งจะตรงกับวันสงกรานต์ในเดือนเมษายนหรือวันขึ้นปีใหม่ของดินแดนอุษาคเนย์ และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ที่ตรงกับวันวิสาขบูชาในเดือนพฤษภาคม รวมระยะเวลาจัดงานประมาณ 4-5 วัน

ประเพณีการก่อหรือสร้างพระเจดีย์ทราย ถือเป็นการทำบุญสร้างกุศลอย่างหนึ่งตามคติความเชื่อของชาวสยาม ล้านนา และล้านช้าง คนสยามหรือคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธมักรู้จักในชื่อประเพณีขนทรายเข้าวัด

ในสมัยโบราณถือว่าการนำสิ่งของออกจากวัดเป็นบาป ถึงแม้จะเป็นเพียงเม็ดหินดินทรายที่ติดเท้ามาก็ตาม
ดังนั้น เมื่อมีโอกาสในช่วงวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ (เดือนเมษายน) และในวันพระใหญ่ก็จะขนทรายถวายวัดกลับคืนไป โดยจะช่วยกันก่อกองทรายด้วยมือให้เป็นรูปทรงเจดีย์ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก แล้วประดับด้วยดอกไม้ใบไม้มงคลหรือสิ่งของมีค่าต่างๆ

เมื่อเสร็จงานบุญ ทางวัดจะเอาทรายเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ เช่น การสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างภายในวัด

ผมมาถึงวัดขนาดเล็กแห่งหนึ่งในชุมชนเมงตาสุที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับคลองชเวตะชาว โดยนัดพบกับ อู ทัน ทุน (U Than Thun) ชายอาวุโสชาวพม่าวัย 80 ปี ที่เกิดในชุมชนแห่งนี้และเห็นประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย หรือ เตโปงเซตีปวยมาตั้งแต่จำความได้ (Te Bon Se ti Puay : เตโปงเซตี หมายถึง ทราย, เซตี หมายถึง เจดีย์, ปวย หมายถึง ประเพณี)

แม้ว่าบรรพชนจะอาศัยอยู่ที่นี่มาหลายชั่วอายุคน แต่อู ทัน ทุน ก็ไม่มั่นใจนักว่าตนมีเชื้อสายชาวโยเดียหรือไม่
เหมือนกับคนอื่นๆ ในชุมชนเมงตาสุที่กาลเวลาได้หลอมรวมให้โยเดียทุกคนกลายเป็นชาวพม่าอย่างสมบูรณ์ ทิ้งไว้เพียงเรื่องราวและวัฒนธรรมที่ทราบกันทั่วไปว่าไม่ใช่ของชาวพม่า ซึ่งสืบทอดกันมานับร้อยปีโดยมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นแก่นกลาง

อู ทัน ทุน พาผมไปพบกับ อู มาว โย (U Maung Nyo) และมาวเมียว (Maung Myo) สองผู้นำการจัดงานประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายในปัจจุบันของชุมชนเมงตาสุ ที่กำลังดูแลความเรียบร้อยของงานวันแรกพร้อมกับชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาหลายสิบชีวิต

ทั้งสองบอกว่า วันแรกของเทศกาลชาวบ้านจะรื้อพระเจดีย์ทรายองค์เดิมที่สร้างเมื่อปีก่อน
วันที่สองช่วยกันสร้างเจดีย์ที่สูงราวสามเมตรขึ้นใหม่โดยมีผู้ชำนาญการหรือมีประสบการณ์ในการสร้างพระเจดีย์ทรายในชุมชนคอยกำกับดูแล ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งวัน
วันที่สามพักผ่อน
วันที่สี่นิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีทำบุญเลี้ยงพระ
วันที่ห้าจัดงานเฉลิมฉลอง

และเมื่อถามถึงสายเลือดโยเดียในกายของผู้นำชุมชนทั้งสอง คำตอบคือไม่มีและไม่ทราบ พวกเขารู้เพียงว่าประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายนี้เป็นวัฒนธรรมของชาวโยเดียที่เคยอาศัยในย่านนี้มานานนับร้อยปี
ซึ่งในฐานะการเป็นส่วนหนึ่งชองชุมชนเมงตาสุ พวกเขายินดีที่จะสืบสานสิ่งที่บรรพชนปฏิบัติสืบต่อกันมา

พวกเขายังถ่อมตัวโดยกล่าวว่า เขาได้รับเกียรติและเป็นเพียงแค่ผู้ประสานงานให้คนในชุมชนเกี่ยวกับเตโปเซตีปวยให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามจารีต
แต่ผู้คนชาวพม่าที่มาร่วมงานประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายเหล่านี้ต่างหาก คือผู้สืบทอดประเพณีของชาวโยเดียที่แท้จริง

ทั้งที่ส่วนใหญ่ไม่มีเชื้อสายหรือความเกี่ยวข้องใดๆ กับชาวโยเดียเลย พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่เป็นวัฒนธรรมของคนอยุธยา พวกเขาเพียงแค่ต้องการทำบุญสร้างกุศลในฐานะพุทธมามกะเท่านั้น
คง ลา จอ ชาวเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงที่พำนักในมัณฑะเลย์ ผู้เคยเป็นแรงงานรับจ้างในย่านราษฎร์บูรณะของกรุงเทพฯ จึงมีชื่อภาษาไทยว่า มานะ ก็มาร่วมงานประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายด้วย
มานะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมงานจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาดังกล่าวนี้เป็นวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ใด เขาแค่ต้องการร่วมทำบุญ ซึ่งปฏิบัติทุกปีตั้งแต่มาอยู่ที่มัณฑะเลย์

นาน ท่าย หนุ่มเมียนมาชุมชนเมงตาสุวัย 30 ต้นๆ ที่มาร่วมงานทุกปีบอกว่า เขาเชื่อว่าตนเองมีเชื้อสายโยเดียเพราะเกิดที่นี่ ครอบครัวก็อยู่ที่นี่มานาน มีความรู้สึกผูกพันกับชุมชนและพระเจดีย์ทรายอย่างเปี่ยมล้น และจะพยายามส่งต่อประเพณีโดยปลูกฝังให้ลูกหลานสืบทอดต่อไป

หนังสือ “พม่าอ่านไทย ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทัศนะพม่า” โดย ศ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ กล่าวไว้ว่า ในสมัยโบราณเชลยชาวสยามที่อาศัยอยู่บริเวณคลองชเวตะชาวจะสร้างพระเจดีย์ทรายจำนวนไม่น้อยไปกว่าปีก่อน หรือมากกว่าเดิม และตามจารีตจะใช้ทรายที่มาจากแม่น้ำอิระวดี
สอดคล้องกับคนเฒ่าคนแก่ที่อาศัยในบริเวณนี้เล่าสืบต่อกันมาว่า ในอดีตย่านระแหงมงติสุ เมงตาสุ และชุมชนตามแนวคลองชเวตะชาวเต็มไปด้วยพระเจดีย์ทรายของชาวโยเดีย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมือง ตลอดจนลักษณะการใช้พื้นที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย พระเจดีย์ทรายของชาวโยเดียตามแนวคลองชเวตะชาวจึงค่อยๆ สูญหายไปเกือบหมดสิ้น

ธรรมเนียมการสร้างพระเจดีย์ทรายให้มีจำนวนมากกว่าปีก่อนจึงเป็นไปได้ยากยิ่ง ต้องประยุกต์พิธีกรรมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการรื้อพระเจดีย์ทรายองค์เดิมแล้วสร้างขึ้นใหม่เพื่อบูชาอีกครั้ง

ปัจจุบันพระเจดีย์ทรายในมัณฑะเลย์หลงเหลืออยู่ไม่กี่องค์ บางองค์มีขนาดเล็กเท่าความสูงของมนุษย์ บางองค์มีขนาดใหญ่กว่านั้น บางองค์ก็ถูกสร้างครอบด้วยเจดีย์แบบพม่าเป็นการถาวรไปแล้ว
ทั้งนี้ พระเจดีย์ทรายที่ตำบลเมงตาสุและระแหงมงติสุหรือมงติสุ เป็นเพียง 2 แห่งที่ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และที่สำคัญยังมีประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายตามธรรมเนียมโบราณอีกด้วย

ดอ เซน เซน หญิงอาวุโสวัย 60 ชาวชุมชนมงติสุ ซึ่งตั้งรกรากอาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่รุ่นปู่ยาตาทวดบอกว่า บรรพชนเล่าต่อกันว่าครอบครัวมีเชื้อสายโยเดียมาจากประเทศไทย แต่ไม่กล้าบอกให้ใครรับรู้เพราะเกรงกลัวเรื่องปัญหาทางการเมืองของพม่าที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษ

ต่อมาในวันวิสาขบูชาเดือนพฤษภาคม 2559 ดอ เซน เซนและครอบครัวพาผมไปชมประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายหรือเตโปงเซตีปวยของชุมชนมงติสุ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของชุมชนเมงตาสุระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร

การจัดงานประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายของมงติสุซึ่งจัดขึ้นในวันวิสาขบูชาไม่เกี่ยวข้องกับที่เมงตาสุ ผู้คนก็ไม่ได้มีการร่วมกันจัดงานหรือมีความเชื่อมโยงใดๆ
แต่ทั้ง 2 ชุมชนมีธรรมเนียมปฏิบัติคล้ายกันทั้งในด้านพิธีกรรม ระยะเวลา และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในฐานะอดีตชุมชนโยเดียที่ตั้งอยู่บริเวณคลองชเวตะชาว
ตลอดจนลักษณะทางศิลปกรรมที่เมื่อก่อสร้างพระเจดีย์ทรายจนแน่นหนาแล้วจะทำการฉาบเคลือบองค์เจดีย์ด้วยวัสดุของเหลวคล้ายปูนขาวที่คนพม่าเรียกว่า ท่ง (Ton) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้สามารถทนต่อสภาพอากาศภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปีได้

ทุกวันนี้การสร้างพระเจดีย์ทรายของชาวพม่าชุมชนมงติสุและเมงตาสุไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อขนทรายเข้าวัดสำหรับใช้เป็นวัสดุก่อสร้างหรือปรับปรุงศาสนสถานตามความเชื่อของชาวพุทธในดินแดนทางตะวันออกของพม่าอีกต่อไป

แต่ดำรงไว้เพื่อการแสดงออกทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่เคยมีชีวิตอยู่และหยั่งรากลงบนผืนแผ่นดินหรือชุมชนที่พวกเขาหวงแหนแม้จะไม่ใช่แผ่นดินถิ่นเกิดก็ตาม

สังเกตได้จากความพยายามของคนรุ่นแรกๆ ที่จะสืบสานประเพณีให้คงอยู่ รวมทั้งการรักษาองค์พระเจดีย์ทรายให้มีความคงทนถาวรของคนรุ่นถัดมา เพื่อประกาศความเป็นชุมชนชาวโยเดียในเมืองพม่าอย่างเจียมตน

ดอ เซน เซน บอกว่า ไม่ทราบว่ามีใครในชุมชนมงติสุที่มีเชื้อสายโยเดียแม้แต่ประธานการจัดงานก็เป็นพม่า เธอเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่มาร่วมประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย เป็นชาวพุทธเมียนมาที่อาศัยอยู่บริเวณนี้และต้องการทำบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น ซึ่งจากการสอบถามผู้ที่มาร่วมงานพบว่า มีไม่กี่คนที่ทราบว่าประเพณีนี้เป็นของชาวโยเดียหรือเชลยศึกจากอยุธยา

ตลอดระยะเวลาที่ผมได้สัมผัสประสบการณ์งานประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายของชาวโยเดียทั้งที่ชุมชนเมงตาสุและระแหงมงติสุหรือมงติสุในมัณฑะเลย์ ทำให้ได้พบข้อเท็จจริงคือการมีอยู่ของกลุ่มเชลยโยเดียหรืออยุธยาซึ่งถูกกวาดต้อนมายังพม่าเมื่อกว่า 260 ปีที่แล้วนั้นไม่อาจปฏิเสธได้

แต่ด้วยกรอบความคิดของสังคมแบบชาตินิยมในปัจจุบัน สิ่งที่ดูจะขัดแย้งกับความรู้สึกหากคิดว่าตัวเองตกอยู่ในฐานะเชลยสงครามแบบชาวโยเดีย ซึ่งสามารถจินตนาการได้ว่าการถูกพันธนาการและบีบคั้นกดดันจากพม่าผู้ชนะคงเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดและน่าอับอาย

แต่ดูเหมือนว่าแท้จริงแล้วชาวโยเดียย่านคลองชเวตะชาวจะดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างสง่างาม ผ่านทางหลักฐานเชิงประจักษ์คือวัฒนธรรมประเพณีบูชาพระเจดีย์ทราย โดยปราศจากการกดขี่จากพระเจ้าแผ่นดินหรือสถาบันการปกครองของพม่าแต่อย่างใด แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 2 ศตวรรษ

ทุกวันนี้แม้เมงตาสุและมงติสุจะไม่หลงเหลือชาวโยเดียแล้ว แต่จิตวิญญาณของชาวอยุธยาและชาวสยามจะยังคงอยู่กับพระเจดีย์ทรายในมัณฑะเลย์ตลอดไป

เนื้อหาและภาพถ่ายทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน
Comments