top of page
Search

วัดมะเดื่อและรอยทางโยเดียในอังวะ

  • Writer: Napat Uthaichai
    Napat Uthaichai
  • Feb 3
  • 1 min read

Updated: Feb 5


ตุลาคม 2558

ที่ริมหน้าต่างเครื่องบิน ผมมองเห็นภูมิประเทศเทือกเขาสลับซับซ้อนสวยงามแปลกตากว่าที่เคย กัปตันประกาศว่าใกล้จะถึงสนามบินมัณฑะเลย์แล้ว ในหัวของผมกำลังปั่นป่วนเพราะความตื่นเต้นด้วยเดินทางมาเมียนมาตัวคนเดียวและไม่รู้ว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ ผมต้องจัดการอารมณ์ที่ยุ่งเหยิงราวกับน้ำขุ่นมัวก่อนที่เครื่องบินจะลงจอด


ช่วงที่เครื่องบินเตรียมลงสู่รันเวย์ ผมเห็นแม่น้ำอิระวดีสีน้ำตาลกว้างใหญ่ทอดตัวยาวไปจนสุดสายตา และปรากฏแผ่นดินริมฝั่งน้ำราบเรียบสงบนิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองอังวะ อดีตศูนย์กลางราชธานีที่ยิ่งใหญ่ของพม่ายุคโบราณ





“อังวะ” หรือ “รัตนปุระอังวะ” ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศเมียนมาทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำอิระวดี สถาปนาขึ้นในปี 1907 อังวะเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรพม่าในสมัยโบราณ และรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์คองบอง หรือราชวงศ์อลองพญา (ปี 2295-2428) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซงพยูเชงหรือมังระ กษัตริย์อังวะเคยตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 แล้วกวาดต้อนชาวอยุธยาและผู้คนในอาณาจักรสยามมายังดินแดนพม่านับแสนคน เชลยสงครามเหล่านี้ประกอบด้วยข้าราชบริพาร ขุนนาง ช่างชำนาญงานสาขาวิชาต่างๆ ตลอดจนไพร่ทาสชายหญิง ในจำนวนนี้เป็นพระราชวงศ์อยุธยากว่า 2,000 พระองค์



ผมมุ่งหน้าไปยัง เยตะพันจาว (Yethaphan Kyaung) หรือวัดมะเดื่อ ที่ตั้งอยู่ในเมืองทาดาอู ทางใต้ของอังวะ วัดแห่งนี้ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย แซมด้วยอาคาร ศาลา สถูปเจดีย์ วิหารขนาดเล็ก และซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้าง เวน อริยะวังสา (Ven Ariyawangsa) เจ้าอาวาสเดินมารับผมแล้วพาลัดสุมทุมพุ่มไม้ผ่านหมู่สถูปสีขาวซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปไว้หลายองค์ แต่ละองค์มีประตูรั้วเหล็กล็อกกุญแจแน่นหนา จากนั้นจึงมาหยุดตรงเจดีย์องค์หนึ่ง



เมื่อปลดล็อกกุญแจ เดินมุดซุ้มประตูฝ่าความมืดเข้าไป ทันทีที่เสียงสวิตช์ไฟดัง เงาพระพุทธรูปด้านหน้าที่เลือนลางก็พลันชัดขึ้น ปรากฏเป็นพระพุทธรูปศิลปะพม่าประดับประดาทาสีสดใหม่สวยงามดูน่าเลื่อมใส เล่าสืบต่อกันมาว่า นี่คือพระพุทธรูปที่เจ้าฟ้าอุทุมพรเถระทรงแกะสลักจากไม้มะเดื่อ ที่เห็นอยู่นี้คือพระพุทธรูปองค์ใหม่ที่สร้างครอบทับองค์เดิมซึ่งชำรุดเสียหายตามกาลเวลา



หนังสือโยเดียกับราชวงศ์พม่า โดย มิคกี้ ฮาร์ท กล่าวไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร หรือเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ พระมหากษัตริย์อยุธยาแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระองค์ก่อนสุดท้ายที่อยู่ในสมณเพศ ทรงถูกกวาดต้อนมายังอังวะเมื่อครั้งกรุงแตกในปี 2310 เซงพยูเชงหรือพระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าให้ทรงจำพรรษาที่วัดนี้นานถึง 16 ปี ตั้งแต่ปี 2310 - 2326




พระองค์เจ้าประทีป พระธิดาในพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์อยุธยาพระองค์สุดท้าย ทรงเป็นพระนัดดาของเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อและถูกกวาดต้อนมายังอังวะ ซึ่งได้รับการสถาปนาให้เป็นพระมเหสีของพระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่า ทรงให้การอุปถัมป์วัดเยตะพันเป็นอย่างดีตลอดช่วงเวลาที่เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงจำพรรษา





ต่อมาในปี 2389 - 2395 รัชสมัยของพระเจ้าพุกาม ได้สถาปนาพระเจ้าทองซึ่งพระมารดาทรงเป็นพระนัดดาของพระเจ้าเอกทัศน์ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชา ทรงอุปถัมป์และบูรณปฏิสังขรณ์วัดมะเดื่อครั้งใหญ่ และเรียกชื่อวัดอีกนามหนึ่งว่า วัดพระมหาอุปราชา





เจ้าอาวาสวัดมะเดื่อพาผมเดินชมรอบๆ วัด และบอกว่าผู้คนเล่าสืบต่อกันว่าที่นี่น่าจะเคยที่ตั้งของชุมชนโยเดียมาก่อน แต่ตอนนี้กลายเป็นคนพม่าไปหมดแล้ว



ที่วัดมะเดื่อ แม้หลักฐานที่แสดงถึงการมีอยู่ของเชลยชาวโยเดียจะดูคลุมเครือ เมื่อพิจารณาจากลักษณะทางศิลปะของสิ่งก่อสร้างและโบราณวัตถุ อย่างไรก็ตาม มุขปาฐะเรื่องเล่าของผู้คน ช่วยให้ภาพของอดีตพระมหากษัตริย์อยุธยาและพระราชวงศ์ที่ต้องพลัดพรากจากมาตุภูมิ มาประทับอยู่ในดินแดนที่ไกลแสนไกล ยังคงอยู่ในความทรงจำอันเลืองลางของกาลเวลา



เนื้อหาและภาพถ่ายทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน

 
 
 

Comments


© All media by Dome Napat 

bottom of page