top of page
Search

"โยเดียเซตี" สถูปปริศนาแห่งอมรปุระ

  • Writer: Napat Uthaichai
    Napat Uthaichai
  • Feb 12
  • 1 min read

Updated: Apr 17

อมรปุระ อดีตเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรพม่า ปัจจุบันมีจุดขายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังคือ ทะเลสาบตาวตะมัน (Taung Thaman) และสะพานอูเบ็ง สะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก โดยใช้ไม้สักจากพระราชวังเดิมที่กรุงอังวะหลังการย้ายราชธานีในสมัยของพระเจ้าปดุง ซึ่งทอดข้ามผืนน้ำอย่างงดงาม และในท่ามกลางความงามนั้น มีเรื่องราวของชาวโยเดียซ่อนอยู่



บันทึกทางประวัติศาสตร์ของพม่า อ้างถึงในหนังสือ “พม่าอ่านไทย ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทัศนะพม่า” โดย ศ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ กล่าวไว้ว่า เมื่อเซงพยูเชง หรือพระเจ้ามังระทรงได้บรรดาแว่นแคว้นต่างๆ ทางทิศตะวันออกของดินแดนพม่า อันได้แก่ ล้านช้าง (ลาว) โยน (เชียงใหม่) สุโขทัย สวรรคโลก พิษณุโลก ระแหง (ตาก) และกรุงศรีอยุธยา ทรงเรียกเชลยเหล่านี้อย่างรวมๆ ว่า “เลงเซง” (ล้านช้าง) และให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางตอนใต้ของทะเลสาบตาวตะมันที่ตำบลอมรปุระ (ในขณะนั้น) ซึ่งเรียกขานกันว่า “เลงเซงกอง” (Lin Zin Kon) หรือเนินล้านช้าง



ดร.ทิน มาว จี ชาวพม่าเชื้อสายเชลยอยุธยากลุ่มโขนละครได้เคยเขียนบทความไว้ในวารสาร Today ของเมียนมาในช่วงปี 2538 เกี่ยวกับการค้นพบสถูปแห่งหนึ่งบริเวณสุสานเก่าที่มีชื่อว่า “เลงเซงกอง” ทางทิศใต้ของทะเลสาบตาวตะมัน ซึ่งเป็นสถานที่รกร้าง ที่ฝังศพชาวต่างชาติ คนไร้ญาติ และกลายเป็นพื้นที่ทิ้งขยะในเวลาต่อมา ระหว่างการสำรวจเพื่อตามหาเรื่องราวของชาวโยเดียในอมรปุระ



ดร.ทิน ได้พบหญิงชราที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นโดยบังเอิญ ซึ่งให้ข้อมูลว่ามีเจดีย์โบราณที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โยเดียเซตี” หรือเจดีย์อยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณสุสานมานานมากแล้ว และเชื่อกันว่าอาจเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของเจ้าฟ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด อดีตกษัตริย์อยุธยาที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อครั้งเสียกรุงให้พม่าในปี 2310



ทั้งนี้ หนังสือโยเดียกับราชวงศ์พม่าของมิกกี้ ฮาร์ท กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษ 2520 นักวิชาการชาวพม่าได้พบภาพวาดโบราณในสมุดพม่าชื่อ “นันเตวังรุปซุงประบุท” หมายถึง “เอกสารการบันทึกราชสำนัก” พร้อมด้วยภาพเขียนที่ British Library ในกรุงลอนดอนของประเทศอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคมของพม่า เป็นภาพชายสูงศักดิ์สวมมงกุฏ อิริยาบถนั่งราบบนเสื่อ มีคำบรรยายเป็นภาษาพม่าสรุปได้ว่า



“ปี 2310 พระเจ้าเซงพยูเชง ตีได้อาณาจักรอยุธยาอันไพศาลและกวาดต้อนผู้คนมามากมาย หนึ่งในนั้นเป็นกษัตริย์ที่สละราชย์ในเพศบรรพชิต และมรณภาพในปี 2339 พระเจ้าปดุงได้ถวายพระเพลิงให้ ณ สุสานเลงเซงกอง กรุงอมรปุระ ภาพนี้เป็นภาพพระเจ้าเอกทัศน์”



เหล่านี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งทั้งไทยและพม่าเชื่อว่า เจดีย์โยเดียที่พบในสุสานล้านช้าง อาจเป็นสถานที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรเถระ



เวลาต่อมา ทางการเมียนมามีแผนงานปรับปรุงพื้นที่สุสานเลงเซงกอง โดยต้องรื้อถอนซากปรักหักพังซึ่งรวมถึงสถูปปริศนาดังกล่าว สำหรับจัดทำแหล่งท่องเที่ยวริมทะเลสาบตาวตะมัน ดังนั้น ฝ่ายไทยที่ติดตามข่าวจึงเร่งดำเนินการขอเข้าขุดค้นโดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมกับรัฐบาลพม่าในช่วงปี 2556 เพื่อค้นหาหลักฐานที่อาจเชื่อมโยงกับอดีตกษัตริย์อยุธยา ซึ่งภายหลังได้ขุดพบบาตรบรรจุเถ้าอัฐิของมนุษย์ที่คาดว่าเป็นพระสงฆ์ฐานันดรสูงศักดิ์บรรจุในวัสดุคล้ายบาตรพระประดับกระจกสีเขียว บริเวณใต้ฐานเจดีย์ที่อยู่ใกล้กับสถูปที่สงสัยกัน



แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าว ไม่เป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการประวัติศาสตร์ เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบยังไม่เพียงพอต่อการสรุปว่าบริเวณนี้เป็นสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของเจ้าฟ้าอุทุมพรเถระ ปัจจุบันโครงการขุดค้นได้ยุติไปแบบไม่มีกำหนด ทิ้งปริศนาสถูปเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อไว้ให้คนรุ่นหลังสืบค้นศึกษาต่อไป



อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่ได้จากการขุดค้นบริเวณสถูปปริศนาในสุสานเลงเซงกอง อย่างน้อยก็ทำให้ทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจเคยเป็นวัดมาก่อน เนื่องจากการพบแนวกำแพงที่เป็นสัดส่วนพร้อมองค์ประกอบของพุทธสถาน ซึ่งเลงเซงกอง คงมีความเกี่ยวข้องกับเชลยโยเดียไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าพระบรมอัฐิของขุนหลวงหาวัดคงประทับอยู่มุมใดมุมหนึ่ง ณ สุสานเลงเซงกองที่กว้างใหญ่ แต่คงไม่ใช้สถูปองค์นี้


เนื้อหาและภาพถ่ายทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน (ยกเว้นภาพที่ 5 และ 8 โดย ดร. มาว จี)


 
 
 

Comments


© All media by Dome Napat 

bottom of page